รู้หรือไม่? วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม เคยหายไป
วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
วันปิยมหาราช เคยหายไป
เมื่อปี 2480 ในยุคที่ พลเอก พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏวันปิยมหาราช ต่อเนื่องมาในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศวันหยุดราชการอีก 2 ฉบับ คือปี 2482 และ 2483 ก็ไม่มียังไม่มีวันดังกล่าว
แต่เมื่อปี 2488 ในยุคหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ได้ประกาศให้วันที่ 23 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ โดยใช้ชื่อว่า วันปิยมหาราช และชื่อในภาษาอังกฤษคือ Chulalongkon Day
ประวัติความเป็นมา วันปิยมหาราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริรวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย สมกับพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ซึ่งแปลความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า “วันปิยมหาราช” และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ
ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้และถวายบังคมสักการะพระบรมรูปทรงม้าหรือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สถานที่ราชการต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงนำพาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เช่น ทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศล จัดงานนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ เป็นต้น
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
- การเลิกทาส
- การปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน
- การปรับปรุงการศึกษา
- การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
- การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
พระราชกรณียกิจเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน